การจัดการเรียนรู้แบบแสวงหาข้อมูล เป็นการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความสามารถของคนเราในการแสวงหาความรู้จากสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราแสวงหาข้อมูลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง การที่ทราบรายละเอียดอย่างถูกต้องจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีหลักการและสามารถหาเหตุผลมาสนับสนุนได้
ในสมัยนี้ข่าวสารและความรู้ มีอยู่ทุกแห่งและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่นักเรียนจะต้องมีความสามารถในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูล ด้วยวิธีการหลากหลาย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกาเรียนรู้และการทำงานของนักเรียน
เพื่อให้ได้ความรู้ความจริงที่น่าเชื่อถือ โดยวิธีการที่ยังใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันสรุปได้ดังนี้
- ประสบการณ์
ความรู้ความจริงหลายเรื่องที่แต่ละคนยอมเชื่อ ยอมรับว่าเป็นความจริง เป็นเพราะผู้นั้นได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน ความรู้หรือความเชื่อหลายเรื่องที่ได้รับมาโดยการเรียนรู้จากสังคม เมื่อคนเราเกิดมาสังคมก็จะถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีหรือสิ่งที่ควรปฏิบัติในสังคมนั้นให้ การรับเอาความรู้ประเภทนี้จะเป็นไปแบบอัตโนมัติ ค่อยเป็นค่อยไป คนรุ่นหลังจะประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างของคนรุ่นก่อนตัวอย่างเช่น ความรู้ ความสามารถในการพูดภาษาไทย เราจะค่อยเรียนรู้จาก พ่อแม่ พี่ ญาติ เพื่อนบ้าน ครู และบุคคลอื่น ๆ การที่ต้องยอมรับเอาความรู้ประเภทนี้ไปปฏิบัติ ก็เพราะต้องการจะอยู่ในสังคมนั้นอย่างราบรื่น เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่เขาปฏิบัติกันเช่นนั้น ความรู้หรือความเชื่อที่เรายอมรับค่อนข้างจะแน่นอน เพราะได้มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมาก่อน เช่น การยอมรับว่าไฟร้อน การยอมรับว่าพริกขี้หนูมีรสเผ็ด การยอมรับว่าเจ็บเมื่อโดนเข็มทิ่มแทง การปักใจเชื่อคงจะไม่ใช่เพราะว่าได้อ่านจากตำรา หรือจากการฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่น อย่างไรก็ตามการแสวงหาความรู้โดยอาศัยประสบการณ์ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและข้อจำกัดของประสาทสัมผัสของแต่ละบุคคล ตลอดจนการผันแปรของสภาพแวดล้อมทางสังคม
- แหล่งความรู้
องค์ความรู้ หรือข้อเท็จจริง จำนวนมากมาย ได้มีการบันทึกในสื่อหรือในสมองของมนุษย์ ดังนั้นหากเรามั่นใจว่าองค์ความรู้ หรือข้อเท็จจริงที่เราต้องการศึกษามีการบันทึกไว้ ในแหล่งใดอยู่ ก็ควรศึกษาค้นคว้าจากแหล่งนั้นได้ จะเห็นว่าเรามีการสอบถามความรู้จากผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหรือได้รับ การฝึกฝนอบรมมาก่อนเป็นอย่างดี มีประสบการณ์ในเรื่องนั้นมากกว่าผู้อื่น
ฉะนั้นเมื่อเราต้องการศึกษาความรู้ หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้อื่นได้ศึกษาไว้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษาค้นคว้าใหม่ ควรใช้วิธีสอบถามผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น นอกเสียจากว่าไม่แน่ใจว่าความรู้ที่มีอยู่แล้วนั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้อง จึงค่อยใช้วิธีศึกษาค้นคว้าใหม่ เพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้อง สมัยก่อนมีแหล่งความรู้ประเภทนี้น้อยมาก แต่ปัจจุบันมีแหล่งความรู้ประเภทนี้จำนวนมากมาย เพราะนอกจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ยังได้มีการบันทึกในสื่อประเภทต่าง ๆ เช่น เทปบันทึกเสียง เทปบันทึกภาพและเสียง ฟิล์มภาพยนต์ สิ่งพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้นองค์ความรู้ที่ได้รับการบันทึกไว้ในแหล่งต่าง ๆ จะถูกต้องหรือเป็นที่ยอมรับของผู้ที่ศึกษาค้นคว้าเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับแหล่งความรู้นั้นด้วย ถ้าแหล่งความรู้เป็นบุคคลก็ควรพิจารณาด้วยว่าผู้นั้นมีความรู้ในสาขาวิชาหรือในเรื่องที่ต้องการจะถามเพียงใด ทั้งนี้เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์เราจะรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง ในสมัยก่อนหรือในสังคมชนบทบางแห่งจะมีผู้รู้ประจำหมู่บ้าน ผู้เฒ่า หมอผี หรือแม่มด บุคคลเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รู้ในทุกเรื่องและทุกด้าน ปัจจุบันเราก็ยังคงมีผู้รู้เช่นกันแต่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา การเลือกว่าจะสอบถามผู้รู้ท่านใดจึงควรเลือกให้เหมาะสม
การรวบรวมข้อมูล เป็นการดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูล ซึ่งขั้นตอนในการรวบรวม ข้อมูลนั้นจะประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ กำหนดวัตถุประสงค์และความต้องการของสิ่งที่สนใจ วางแผน และพิจารณาเลือกแหล่งข้อมูล กำหนดวิธีการรวบรวมข้อมูล ค้นหาและรวบรวมข้อมูล และสรุปผลข้อมูล ส่วนวิธีการในการรวบรวมข้อมูล แบ่งเป็น 4 วิธี คือ การสังเกต สำรวจและจดบันทึก การสอบถาม หรือ การสัมภาษณ์ การสำรวจโดยใช้แบบสอบถามและการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร