วิชาสังคมศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ส15101) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
เกี่ยวกับบทเรียน

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

   ภูมิศาสตร์ (geography) คือ ศาสตร์ของการจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และองค์ประกอบด้านสังคมมนุษย์ โดยแบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบกายภาพ และระบบสังคมมนุษย์

   เครื่องมือที่ใช้ศึกษาภูมิศาสตร์มีหลายชนิด เช่น แผนที่ รูปถ่ายทางอากาศ และภาพจากดาวเทียม ดังนั้นจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในวิชาภูมิศาสตร์มากขึ้น

1. แผนที่
   พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของแผนที่ว่า “แผนที่ หมายถึง สื่อรูปแบบหนึ่งที่ถ่ายทอดข้อมูลของโลกในรูปของกราฟิก โดยการย่อส่วนให้เล็กลงด้วยมาตราส่วนขนาดต่าง ๆ และเส้นโครงแผนที่แบบต่าง ๆ ให้เข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ด้วยการใช้สัญลักษณ์”

   1.1 ชนิดของแผนที่
      1. การแบ่งแผนที่ตามลักษณะการใช้แบ่งได้ 3 ประเภท คือ
          1) แผนที่อ้างอิง (general reference map)
          2) แผนที่เฉพาะเรื่อง (thematic map)
          3) แผนที่เล่ม (atlas) 

      2. แผนที่แบ่งตามมาตราส่วนสำหรับประเทศไทยกรมแผนที่ทหารกำหนดไว้ดังนี้
          1) แผนที่มาตราส่วนขนาดใหญ่ (large scale map) ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนใหญ่กว่าหรือเท่ากับ 1:75,000
          2) แผนที่มาตราส่วนขนาดกลาง (medium scale map) ได้แก่ แผนที่มาตราส่วน 1:75,000 ถึง 1:600,000
          3) แผนที่มาตราส่วนขนาดเล็ก (small scale map) ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนที่เล็กกว่าหรือเท่ากับ 1:600,000

   1.2 องค์ประกอบของแผนที่
       1. ชื่อแผนที่ (map name)
       2. ชื่อภูมิศาสตร์ (geographic name)
       3. ทิศ (direction) โดยปกติส่วนบนของแผนที่ คือ ทิศเหนือเสมอ

           แนวทิศเหนือมี 3 ชนิดได้แก่
           ทิศเหนือจริง (true north) ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาว
           ทิศเหนือแม่เหล็ก (magnetic north) ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปปลายลูกศรครึ่งซีก
           ทิศเหนือกริด (grid north) ใช้สัญลักษณ์เป็นขีดตรง มีอักษร GN อยู่ข้างบน

   นอกจากนี้ ยังสามารถบอกทิศทางแบบมุมแบริงและบอกทิศทางแบบแอซิมัทได้
          1) การบอกทิศทางแบบแบริง หมายถึง การบอกทิศทางเป็นค่าของมุมในแนวราบ ซึ่งวัดจากแนวทิศเหนือหลักหรือแนวทิศใต้หลักไปยังแนวเป้าหมายทางตะวันออกหรือตะวันตก มีขนาดมุมไม่เกิน 90 องศา

          2) การบอกทิศแบบแอซิมัท (azimuth) เป็นมุมที่วัดจากทิศเหนือไปหาทิศทางเป้าหมายตามเข็มนาฬิกา มุมที่ได้จะไม่เกิน 360 องศา

                              

       4. มาตราส่วน (map scale) โดยทั่วไปมี 3 ชนิด ดังนี้
          1) มาตราส่วนคำพูด (verbal scale)
          2) มาตราส่วนเส้น (graphic scale) หรือ มาตราส่วนรูปแท่ง (bar scale)

          3) มาตราส่วนแบบเศษส่วน (representative scale)
          การวัดระยะทางในแผนที่ (Map Distance) เพื่อคำนวณหาระยะทางของภูมิประเทศจริงจากมาตราส่วน เช่น การใช้ไม้บรรทัดวัด หรือใช้ด้ายวัดระยะทางแล้วนำความยาวที่ได้ไปวัดกับไม้บรรทัดก็จะได้ระยะทางในแผนที่ และนำไปเทียบกับมาตราส่วนของแผนที่ ก็จะได้ระยะทางจริงบนพื้นผิวโลก (Ground Distance)
          สูตรการหาระยะทางจริงบนพื้นผิวโลกจากแผนที่ คือ

          เมื่อ MD คือ Map Distance และ GD คือ Ground Distance

       5. สัญลักษณ์ แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
          1) สัญลักษณ์ที่เป็นจุด (point symbol) ใช้แทนสถานที่ และกำหนดสถานที่ตั้ง เช่น

          2) สัญลักษณ์ที่เป็นเส้น (line symbol) ใช้แทนสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเส้นมีระยะทาง เช่น

          3) สัญลักษณ์ที่เป็นพื้นที่ (area symbol) ใช้แทนพื้นที่ที่ปรากฏในภูมิประเทศ เช่น

       6. สี (color) มาตรฐานสีที่ใช้ในแผนที่มี 5 สี ได้แก่
          สีดำ       ใช้แทนสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น วัด โรงเรียน หมู่บ้าน
          สีแดง     ใช้แทนถนนและรายละเอียดพิเศษอื่น ๆ
          สีน้ำเงิน  ใช้แทนบริเวณที่เป็นน้ำ เช่น ทะเล มหาสมุทร
          สีน้ำตาล  ใช้แทนความสูง เช่น เส้นชั้นความสูง ภูเขา
          สีเขียว     ใช้แทนพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่การเกษตร

   1.3 แผนที่ภูมิประเทศ
   เป็นแผนที่ที่แสดงข้อมูลลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ และใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ แสดงความสูง – ต่ำของภูมิประเทศโดยใช้ระดับทะเลปานกลาง (mean sea level) เป็นเกณฑ์กำหนดความสูง เพื่อบอกระดับความสูงของภูมิประเทศ ซึ่งนิยมแสดงระดับความสูงไว้ 4 รูปแบบ ดังนี้
       1. เส้นชั้นความสูง (contour level)

       2. การใช้แถบสี (layer tinting) สีที่นิยมใช้ในแผนที่เพื่อแสดงความสูง – ต่ำของภูมิประเทศมีดังนี้
          1) พื้นดิน สีที่นิยมแสดงลักษณะภูมิประเทศมีดังนี้
              สีเขียว = ที่ราบ ที่ต่ำ
              สีเหลือง = เนินเขาหรือที่สูง
              สีเหลืองแก่ = ภูเขาสูงมาก
              สีน้ำตาล = ภูเขาสูงมาก
              สีขาว = ภูเขาที่มีหิมะปกคลุม

          2) พื้นน้ำ สีที่นิยมใช้เพื่อบอกความลึกของแหล่งน้ำในแผนที่มีดังนี้
              สีฟ้าอ่อน = ไหล่ทวีปหรือเขตทะเลตื้น
              สีฟ้าแก่ = ทะเลลึก
              สีน้ำเงิน = ทะเลหรือมหาสมุทรลึก
              สีน้ำเงินแก่ = น่านน้ำที่มีความลึกมาก

       3. เส้นลายขวานสับหรือเส้นลาดเขา (hachure)
       4. การแรเงา (shading)

   1.4 ประโยชน์ของแผนที่
       1. ทำให้รู้จักและเข้าใจสถานที่ที่ไม่เคยรู้จักดียิ่งขึ้น
       2. ทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศ และสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏอยู่
       3. ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่ไม่ทราบรายละเอียดของสถานที่ที่จะเดินทางไป
       4. ช่วยวางแผนหรือตัดสินใจในพื้นที่นั้น ๆ
       5. เป็นข้อมูลการเลือกเส้นทางและพาหนะที่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง

   1.5 ตัวอย่างแผนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพและสังคมของทวีปยุโรปและแอฟริกา

แผนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพและสังคมของทวีปยุโรป

       จากแผนที่แสดงให้เห็นว่า บริเวณยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และที่ราบใหญ่ตอนกลางของทวีปมีประชากรหนาแน่น ส่วนบริเวณคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ประเทศฟินแลนด์ และทางตอนเหนือของประเทศรัสเซียมีประชากรเบาบาง

แผนที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางกายภาพและสังคมของทวีปแอฟริกา

       จากแผนที่แสดงให้เห็นว่า บริเวณที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ ลุ่มน้ำไนล์ ประเทศอียิปต์ คาบสมุทรในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ที่ราบสูงของประเทศเอธิโอเปีย ส่วนบริเวณที่มีประชากรเบาบาง ได้แก่ เขตทะเลทรายสะฮาราและคาลาฮารี และทางตะวันออกของอ่าวกินีและลุ่มน้ำคองโก

2.รูปถ่ายทางอากาศ (aerial photograph)
   รูปถ่ายทางอากาศ หมายถึง รูปภาพลักษณะของภูมิประเทศที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวโลก ภาพถ่ายแต่ละภาพต้องครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อนกันประมาณร้อยละ 60 เพื่อใช้กล้องสามมิติดู และแต่ละภาพต้องซ้อนทับกันประมาณร้อยละ 20–30 การนำรูปถ่ายมาต่อกัน เรียกว่า โมเสกภาพ เพื่อป้องกันพื้นที่บางส่วนขาดไป และเมื่อนำภาพมาเรียงต่อกันก็จะเห็นสิ่งที่ปรากฏอยู่จริงบนพื้นโลก

   2.1 ประโยชน์ของรูปถ่ายทางอากาศ
   รูปถ่ายทางอากาศมีประโยชน์ด้านยุทธศาสตร์การทหาร ใช้ในการทำแผนที่ และสำรวจทางโบราณคดี ธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา การวางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การวางผังเมือง ระบบการจราจร และยังใช้ในการแก้ไขแผนที่ให้เป็นข้อมูลล่าสุดอีกด้วย

   2.2 ตัวอย่างการใช้รูปถ่ายทางอากาศแสดงลักษณะทางกายภาพและสังคมของทวีปยุโรปและแอฟริกา

                 

3. ภาพจากดาวเทียม (satellite imagery)
   การบันทึกข้อมูลเชิงลึกจากดาวเทียมที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่อาศัยกระบวนการบันทึกพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สะท้อนหรือส่งผ่านของวัตถุ แล้วส่งข้อมูลไปยังสถานีรับภาคพื้นดิน ซึ่งวัตถุแต่ละชนิดสะท้อนแสงไม่เท่ากัน ทำให้เกิดภาพจากดาวเทียม แต่ไม่สามารถแปลความหมายได้ง่าย จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการแปล

   ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย คือ ดาวเทียมธีออส (THEOS)

   ภาพจากดาวเทียมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ลักษณะภูมิประเทศ ด้านการเกษตร ด้านป่าไม้ ด้านการวางผังเมือง และด้านอื่น ๆ เช่น ใช้ประโยชน์ในด้านการบริหาร อุทกวิทยา ธรณีวิทยา และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

แหล่งที่มา : สำนักพิมพ์ วัฒนาพานิช