ครื่องมือทางภูมิศาสตร์
ความหมาย
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ หมายถึง เครื่องมือในการตรวจสอบและศึกษาสิ่งที่อยู่บนพื้นผิวโลก และบรรยากาศของโลก จึงได้ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบและบันทึกข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ ทั้งทางด้านข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลทางคุณภาพ เช่น การกำหนดพิกัดบนพื้นผิวโลก การวัดทิศทางการเก็บข้อมูลภาคสนาม ในพื้นที่ต่าง ๆ หรือใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ หมายถึง สิ่งที่ใช้ในการศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เกี่ยวกับ ตำแหน่ง ทำเลที่ตั้ง การกระจาย ขอบเขต ความหนาแน่นของข้อมูล และปรากฏการณ์ต่าง ๆ
1. ประเภทให้ข้อมูล
1.1 แผนที่ (Map)
เป็นเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง โดยการย่อข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏบนพื้นโลกให้มีขนาดเล็กลงตามมาตราส่วน และแสดงข้อมูลดังกล่าวด้วยสัญลักษณ์ลงบนวัสดุต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า แผ่นพลาสติก ฯลฯ ข้อมูลที่แสดงในแผนที่ มี 2 ลักษณะ คือ
1) ข้อมูลด้านกายภาพ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ชายฝั่งทะเล เกาะ และป่าไม้
2) ข้อมูลด้านวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ถนน เขื่อน ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียน สถานีอนามัย ฯลฯ
ชนิดของแผนที่
1. แผนที่ทั่วไป เป็นแผนที่ที่แสดงลักษณะโดยทั่วไปได้แก่แผนที่แสดงลักษณะภูมิภาคต่างๆ โดยจะ
แสดงด้วยสี เพื่อให้เห็นความแตกต่างของลักษณะแผ่นดิน
2. แผนที่อ้างอิง เป็นแผนที่ที่ใช้เป็นหลักในการทำแผนที่ชนิดอื่น ๆ แผนที่อ้างอิงที่สำคัญ ได้แก่ แผนที่
ภูมิประเทศ คือ แผนที่ที่ใช้แสดงลักษณะภูมิประเทศบนพื้นผิวโลก เช่น ที่ราบ ที่ราบสูง เนินเขา แม่น้ำ เกาะ
ถนน เมือง และแผนที่ชุด คือ แผนที่หลายเเผ่นที่มีมาตราส่วนและรูปแบบเป็นอย่างเดียวกัน และครอบคลุมพื้นที่
ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ
3. แผนที่เฉพาะเรื่อง เป็นแผนที่ที่แสดงลักษณะเฉพาะตามจุดมุ่งหมาย เช่น แผนที่ แสดงป่าไม้ แผนที่
แสดงเส้นทางคมนาคม แผนที่แสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น สามารถแบ่งได้ดังนี้
3.1 แผนที่รัฐกิจ (political map) คือแผนที่แสดงอาณาเขตทางการปกครอง เช่น เขตจังหวัดหรือ
ประเทศ แผนที่ชนิดนี้จะต้องแสดงอาณาเขตติดต่อกับดินเเดนของประเทศหรือรัฐอื่น พร้อมทั้งแสดงที่ตั้ง
ชื่อเมืองหลวง เมืองท่า หรือเมืองสำคัญอื่น
3.2 แผนที่ภูมิอากาศ (climatic map) เป็นแผนที่สำหรับแสดงข้อมูลด้านภูมิอากาศโดยเฉพาะ เช่น
แผนที่เขตภูมิอากาศของโลก แผนที่ปริมาณฝนเฉลี่ยของประเทศไทย แผนที่ปริมาณฝนเฉลี่ยของโลก
แผนที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก
3.3 แผนที่ธรณีวิทยา (geologic map) เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อเเสดงอายุ ประเภท และการ
กระจายตัวของหินเปลือกโลก การตกตะกอนทับถมของสารต่าง ๆที่ผิวโลกรวมทั้งแสดงรอยเลื่อนที่
ปรากฎบนผิวโลก และลักษณะทางธรณีวิทยาอื่นๆ
3.4 แผนที่การถือครองที่ดิน (cadastral map) เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อเเสดงอาณาเขตที่ดินใน
พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น ในเขตตำบล อำเภอ หรือจังหวัด โดยแบ่งออกเป็นแปลงๆ และแต่ละเเปลงต่างก็
แสดงสิทธิการครอบครองโดยการเเสดงการเป็นเจ้าของ
3.5 แผนที่พืชพรรณธรรมชาติ (natural vegetation map) เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อ
เเสดงประเภทของพืชพรรณธรรมชาติและการกระจายตัวของพืชพรรณชนิดนั้น ๆ ที่ปรากฎบนโลก ภูมิภาค
หรือประเทศต่างๆ
3.6 แผนที่ท่องเที่ยว (tourist map) เป็นแผนที่ที่จัดทำขึ้นเพื่อแนะนำสถานที่นั้นเพื่ออำนวยความ
สะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งและสถานที่ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง
สำหรับการท่องเที่ยว เช่น เส้นทางการคมนาคมทั้งทางบก เรือ อากาศ ทีพัก ร้านอาหาร ภัตตาคาร
สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น ชายหาด น้ำตก เกาะ แก่ง ภูเขา อุทยาน เป็นต้น
1.2 รูปถ่ายทางอากาศ (Aerial Photography)
เป็นรูปภาพแสดงภูมิประเทศที่ปรากฏบนพื้นผิวโลก ถ่ายโดยใช้กล้องถ่ายรูปติดไว้กับเครื่องบิน ส่วนหน่วยงานที่จัดทำรูปถ่ายทางอากาศ คือ กรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม การนำไปไปใช้ประโยชน์ มีหน่วยราชการอื่น ๆ นำรูปถ่ายทางอากาศไปใช้ประโยชน์ทางด้านวิชาการและการพัฒนาความเจริญของบ้านเมือง ดังนี้
1) ทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงในลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบจากรูป
ถ่ายที่ถ่ายในระยะเวลาแตกต่างกัน เช่น การสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน การพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำที่เกิดจากการกัดเซาะของคลื่น และการขยายตัวของชุมชนเมืองเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม
2) การวางแผนพัฒนาการใช้ที่ดิน โดยนำรูปถ่ายทางอากาศไปใช้เพื่อจัดทำแผนที่และจำแนกประเภท
การใช้ที่ดินของประเทศ โดยกำหนดโซนหรือแบ่งพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรม เขตเกษตรกรรม และเขตชุมชนที่อยู่อาศัย
3) การอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ รูปถ่ายทางอากาศทำให้ทราบถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ในพื้นที่
ต่าง ๆ เพื่อกำหนดแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป
การศึกษาข้อมูลจากรูปถ่ายทางอากาศ ทำได้ 2 วิธี คือ ศึกษาด้วยตาเปล่า ศึกษาด้วยกล้องสามมิติ เนื่องจากรูปถ่ายทางอากาศไม่มีคำอธิบายใด ๆ ทั้งสิ้น จึงควรศึกษาควบคู่กับแผนที่ด้วยจะทำให้เข้าใจง่าย
1.3 ภาพจากดาวเทียม
1.3.1 ภาพจากดาวเทียม (Satellite Imagery) ให้ประโยชน์อย่างมากในการศึกษาข้อมูลเพื่อสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานีรับสัญญาณภาพดาวเทียมลาดกระบัง ตั้งอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่เคยพึ่งพาต่างประเทศ
1.3.2 การทำงานรับภาพของดาวเทียม เรียกว่า กระบวนการรีโมทเซนซิง (Remote Sensing) โดย ดาวเทียมจะเก็บข้อมูลของวัตถุหรือพื้นที่เป้าหมายบนพื้นผิวโลก จากรังสีที่สะท้อนขึ้นไปจากผิวโลกหรือจากอุณหภูมิของวัตถุนั้น ๆ บนพื้นผิวโลกจากนั้นดาวเทียมจะส่งข้อมูลเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามายังสถานีภาคพื้นดิน ซึ่งจะบันทึกเป็นข้อมูลเชิงตัวเลขในแถบบันทึกข้อมูล เพื่อนำไปประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ และนำเสนอเป็นแผ่นฟิล์ม
1.3.3 ภาพจากดาวเทียวให้ประโยชน์ในการศึกษาทางภูมิศาสตร์ คือ นำมาใช้จัดทำแผนที่แสดงภูมิ
ประเทศของพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะให้รายละเอียดของตำแหน่งต่าง ๆ บนพื้นโลกชัดเจนยิ่งขึ้น
1.4 อินเทอร์เน็ต
1.4.1 อินเทอร์เน็ต (Internet) หรือ ไซเบอร์สเปซ (Cyber Space) คือ ระบบการสื่อสารด้วยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้งานทั่วโลกเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างสะดวกและรวดเร็ว จนทำให้โลกในปัจจุบันเข้าสู่ยุค “การสื่อสารไร้พรมแดน”
1.4.2 บริการในอินเทอร์เน็ต (World Wild Web : WWW) จะให้บริการข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตัวอักษร รูปภาพ เสียง หรือภาพยนตร์ ข้อมูลเหล่านี้ เรียกว่า “เว็บเพ็จ” (Web Page) มีการเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลกคล้ายใยแมงมุม
1.5 ลูกโลกจำลอง
ลูกโลกจำลองเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อจำลองลักษณะของโลก แสดงที่ตั้งอาณาเขต พรมแดนของประเทศต่างๆและลูกโลกจำลองยังสามารถใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนเกี่ยวกับโลกได้เป็นอย่างดี
2. ประเภทเครื่องมือและอุปกรณ์
อุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้วัดหรือเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ในด้านต่าง ๆ เช่น ทิศ ระยะทาง ความสูง ตำแหน่งที่ตั้ง อุณหภูมิของอากาศ และปริมาณฝน เป็นต้น สรุปได้ดังนี้
2.1 เข็มทิศ (Compass)เป็นเครื่องมือบอกทิศอย่างง่าย ๆ โดยจะทำปฏิกิริยากับแม่เหล็กโลกและแสดงค่าของมุมบนหน้าปัด วิธีใช้เข็มทิศ คือ วางเข็มทิศในแนวระนาบ ปรับหมุนหน้าปัดให้เข็มบอกค่าบนหน้าปัดอยู่ในตำแหน่งที่หันไปทางทิศเหนือแม่เหล็กโลกต่อจากนั้นจึงนำเข็มทิศหันเข้าหาตำแหน่งที่ต้องการวัดมุม เช่น เสาธงโรงเรียน เข็มทิศก็จะบอกให้ทราบว่าเสาธงของโรงเรียนอยู่ในทิศใด และทำมุมกี่องศากับทิศเหนือแม่เหล็กโลก
2.2 เครื่องมือวัดพื้นที่ (Planimeter)มีลักษณะคล้ายไม้บรรทัดทำด้วยโลหะยาวประมาณ 1 ฟุต ใช้สำหรับวัดพื้นที่ในแผนที่ โดยเครื่องจะคำนวณให้ทราบค่าของพื้นที่และแสดงค่าบนหน้าปัด
2.3 เทปวัดระยะทางใช้สำหรับวัดระยะทางของพื้นที่ เมื่อลงไปสำรวจหรือเก็บข้อมูลภาคสนาม เทปวัดระยะทางมี 3 ชนิด ได้แก่ เทปที่ทำด้วยผ้า เทปที่ทำด้วยโลหะ และเทปที่ทำด้วยโซ่
2.4 เครื่องย่อขยายแผนที่ (Pantograph) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้จัดทำแผนที่อย่างหนึ่ง เพื่อย่อหรือขยายแผนที่ให้ได้ขนาดหรือมาตราส่วนตามที่ต้องการ โดยทั่วไปนิยมใช้แบบโต๊ะไฟ ซึ่งมีแท่นวางแผนที่ต้นฉบับและมีไฟส่องอยู่ใต้กระจก ทำให้เห็นแผนที่ต้นฉบับปรากฏเป็นเงาบนกระจกอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ผู้จัดทำแผนที่ดังกล่าว จะต้องลอกลายเพื่อย่อหรือขยายแผนที่ด้วยมือของตนเอง
2.5 กล้องวัดระดับ (Telescope)เป็นอุปกรณ์วัดระดับความสูงจากพื้นดิน เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างถนน โดยจะช่วยกำหนดระดับแนวถนนได้ตามที่ต้องการ
2.6 กล้องสามมิติ (Stereoscope)เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดูรูปถ่ายทางอากาศ เพื่อพิจารณาความสูงต่ำของ
ลักษณะภูมิประเทศ ในพื้นที่นั้น ๆ
2.7 กล้องสามมิติแบบพกพา
2.8 เครื่องมือวัดลักษณะอากาศแบบต่าง ๆ
(1) เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดอุณหภูมิของอากาศ โดยทั่วไปนิยมใช้แบบหลอดแก้วที่บรรจุปรอทหรือแอลกอฮอล์ไว้ภายใน ค่าของอุณหภูมิมี 2 ระบบ ดังนี้
– ระบบเซลเซียส (0 – 100 องศา C)
– ระบบฟาเรนไฮต์ (32 – 212 องศา F)
(2) บาโรมิเตอร์ (Barometer) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดความกดอากาศ มี 2 ชนิด คือ
– แบบปรอท ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ 2 อย่าง คือ หลอดแก้วและอ่างแก้วที่บรรจุปรอท
– แบบแอนิรอยด์ (Aneroid) เป็นแบบตลับโลหะขนาดเล็ก ที่หน้าปัดจะมีเข็มแสดงค่าความกดอากาศไว้
(3) เครื่องวัดน้ำฝน (Rain Gauge) ทำด้วยโลหะทรงกระบอกซ้อนกัน 2 ชั้น
(4) แอโรแวน (Aerovane) เป็นอุปกรณ์สำหรับวัดทิศทางและความเร็วของลม แยกตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ชนิด ดังนี้
– แอนนิโมมิเตอร์ (Anemometer) ใช้วัดความเร็วของลม
– วินแวน (Wind Vane) ใช้วัดทิศทางของลม มีสัญลักษณ์เป็นรูปไก่หรือลูกศร
(5) ไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer)ใช้วัดความชื้นของอากาศโดยมีเส้นผมเป็นอุปกรณ์สำคัญ ถ้าอากาศมีความชื้นสูงจะทำให้เส้นผมยืดตัว แต่ถ้ามีความชื้นน้อยเส้นผมจะหดตัว ทั้งนี้หน้าปัดจะแสดงค่าความชื้นบนกระดาษกราฟให้เห็น
(6) ไซโครมิเตอร์ (Psychrometer) เป็นอุปกรณ์ใช้วัดความชื้นของอากาศอีกแบบหนึ่ง ประกอบด้วยเทอร์โมมิเตอร์ 2 อัน คือ เทอร์โมมิเตอร์ปรอท (เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มแห้ง) และเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้ผ้ามัสลินหล่อน้ำให้เปียกอยู่ตลอดเวลา (เทอร์โมมิเตอร์ตุ้มเปียก)