วัฒนธรรมและภูมิปัญญา
วัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรม หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อความเจริญก้าวหน้าจนเป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น ๆ และถ่ายทอดไปสู่คนรุ่นหลัง แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ วัฒนธรรมทางวัตถุและวัฒนธรรมทางจิตใจ ทั้งนี้ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จำแนกวัฒนธรรมไทยออกเป็น 4 ประเภท คือ
1. คติธรรม มีความเกี่ยวข้องกับจิตใจ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากหลักธรรมทางศาสนา
2. เนติธรรม เป็นวัฒนธรรมทางกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นกรอบป้องกันมิให้สมาชิกละเมิดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ของสังคม เช่น กฎหมาย และกฎระเบียบของสถาบัน
3. สหธรรม เป็นวัฒนธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เพื่อให้สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เช่น ขนบธรรมเนียมประเพณีและมารยาททางสังคม
4. วัตถุธรรม เป็นวัฒนธรรมเกิดจากการประดิษฐ์ของสมาชิกในสังคม เช่น ที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้
วัฒนธรรมไทยมีความสำคัญในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. ช่วยให้มนุษย์สามารถปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมในสังคม
2. การศึกษาวัฒนธรรมทำให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ เจตคติ ความคิดเห็น และความเชื่อ
3. ทำให้เกิดความเรียบร้อยในสังคม
4. ช่วยสร้างความเจริญให้แก่สังคมไทย
5. ช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่สังคมไทย
6. ช่วยแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ
ภูมิปัญญาไทย
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถ และทักษะในการดำรงชีวิตของคนไทย ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เหมาะสมกับยุคสมัย และมีเอกลักษณะเป็นของตนเอง
ความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ได้แก่
1. ช่วยสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น
2. สร้างความภาคภูมิใจและศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแก่คนไทย
3. ช่วยส่งเสริมให้การประยุกต์หลักธรรมคำสอนทางศาสนาใช้กับวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างเหมาะสม
4. สร้างความสมดุลระหว่างคนในสังคมและธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน
5. ช่วยเปลี่ยนแปลงปรับปรุงวิถีชีวิตของคนไทยให้เหมาะสมตามยุคสมัย
ภูมิปัญญาไทยแบ่งเป็น 9 ประเภท ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม ด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี และด้านโภชนาการ