กระบวนการแก้ปัญหา
ในชีวิตประจำวันทุกคนจะต้องเคยพบกับปัญหาต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาของแต่ละคนจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไป ในบางครั้งการแก้ปัญหาอาจจะใช้วิธีลองผิดลองถูก หรือมีการใช้เหตุผลประกอบการแก้ปัญหา ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึงคิดหรือทำเช่นนั้น รูปแบบของการให้เหตุผลประกอบการแก้ปัญหาอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือปัญหานั้น ๆ การใช้วิธีการให้เหตุผลที่เรียกว่า “วิธีขจัด” (Method of elimination) สำหรับแยกข้อมูลออกเป็นกรณีที่อาจเป็นไปได้ แล้วตัดกรณีที่เป็นไปไม่ได้ทิ้งไป จนเหลือกรณีที่เป็นไปได้ เพื่อเป็นเหตุผลในการแก้ปัญหา ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่นิยมใช้กัน แต่ในปัญหาบางปัญหาอาจจะขจัดให้เหลือกรณีเดียวไม่ได้ ก็อาจจะทำให้เหลือกรณีน้อยที่สุด แล้วจึงพิจารณาความเป็นไปได้ของแต่ละกรณี ในการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้บางครั้งอาจต้องใช้ตารางช่วยในการหาความสัมพันธ์ของข้อมูล
แนวทางในการแก้ปัญหา
ปัจจุบันได้มีการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์เกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้และวิธีการแก้ปัญหา ส่วนใหญ่สรุปว่ากระบวนการที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหามี 4 ขั้นตอนคือ
1. การทำความเข้าใจปัญหา ในการที่จะแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือทำความเข้าใจเกี่ยวกับถ้อยคำต่าง ๆ ในปัญหา แล้วแยกปัญหาให้ออกว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ต้องหา อะไรเป็นข้อมูลที่กำหนดให้ และมีเงื่อนไขใดบ้าง หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดให้นั้นเพียงพอที่จะหาคำตอบของปัญหาได้หรือไม่
2. การวางแผนในการแก้ปัญหา จากการทำความเข้าใจกับปัญหาจะช่วยให้เกิดการคาดคะเนว่า จะใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหา เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบ ประสบการณ์เดิมของผู้แก้ปัญหาจะมีส่วนช่วยอย่างมาก ฉะนั้นในการเริ่มต้นจึงควรจะเริ่มด้วยการถามตนเองว่า “เคยแก้ปัญหาในทำนองเดียวกันนี้มาก่อนหรือไม่” ในกรณีที่มีประสบการณ์มาก่อนควรจะใช้ประสบการณ์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาแล้วพยายามเลือกปัญหาเดิมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อเลือกได้แล้วก็เท่ากับมีแนวทางว่าจะใช้ความรู้ใดในการหาคำตอบ โดยพิจารณา
วิธีการแก้ปัญหาเดิมนั้นมีความเหมาะสมกับปัญหาหรือไม่ หรือต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้วิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นในกรณีที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาทำนองเดียวกันมาก่อน ควรเริ่มจากการมองดูสิ่งที่ต้องการหา แล้วพยายามหาวิธีการเพื่อให้ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่ง
ที่ต้องการหากับข้อมูลที่มีอยู่ เมื่อได้ความสัมพันธ์แล้วต้องพิจารณาว่าความสัมพันธ์นั้นสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็แสดงว่าจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม หรืออาจจะต้องหาความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นต่อไป เมื่อได้แนวทางในการแก้ปัญหาแล้วจึงวางแผนในการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน
3. การดำเนินการแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ เมื่อได้วางแผนแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหา ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาอาจทำให้เห็นแนวทางที่ดีกว่าวิธีที่คิดไว้ ก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้
4. การตรวจสอบ เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้วจำเป็นต้องสอบทานว่าวิธีการแก้ปัญหาได้ผลลัพธ์ถูกต้องหรือไม่
ตัวอย่างต่อไปนี้จะพิจารณาการแก้ปัญหาแนวทางของการแก้ปัญหา แต่จะเน้นที่ขั้นตอนการทำความเข้าใจและการวางแผนซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ