วิชาประวัติศาสตร์ 4 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (ส14102) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
เกี่ยวกับบทเรียน

 

ผังมโนทัศน์สาระการเรียนรู้

 

บุคคลสำคัญสมัยสุโขทัย

 

1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง มีพระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว
มีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ทรงตั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย และทรงรวบรวมอาณาจักรเป็นปึกแผ่น มีเหตุการณ์สำคัญ คือ ศึกขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดยกทัพมาตีเมืองตากของสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์และพระรามคำแหงต่อสู้จนได้ชัยชนะและยึดเมืองตากคืนได้ ทำให้สุโขทัยมั่นคงและมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น
2. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
มีพระนามเดิมว่า พระราม ทรงพระปรีชาสามารถทั้งการรบและการเป็นนักปราชญ์ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการทำสงคราม ในศึกขุนสามชน พระองค์ได้รับชัยชนะ พระบิดาจึงเฉลิมพระนามว่า พระรามคำแหง

 

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
1. การขยายอาณาเขต มีการขยายอาณาจักรสุโขทัยให้ยิ่งใหญ่
2. การปกครอง ทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ด้านกฎหมาย ในจารึกหลักที่ 1 ระบุว่า เมื่อพ่อตายให้สมบัติตกแก่ลูก ส่วนการพิพากษามีตุลาการทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม

 

กระดิ่งพ่อขุน

 

3. การศาสนา นิมนต์พระสงฆ์จากนครศรีธรรมราชเพื่อสั่งสอนพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ และสร้างพระแท่นมนังศิลาบาตรไว้เพื่อให้พระสงฆ์แสดงธรรมแก่ประชาชนวันพระ
4. ด้านภาษาและวรรณกรรม ทรงประดิษฐ์อักษรไทยเมื่อ พ.ศ. 1826 และให้จารึกเรื่องราวของอาณาจักรสุโขทัยบนแท่งหิน
5. ด้านเศรษฐกิจ สร้างเขื่อนและทำนบเพื่อใช้ในการเกษตร เปิดเสรีทางการค้า มีการค้ากับต่างประเทศ และไม่เก็บภาษีผ่านด่าน
3. พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
เป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทยและเป็นพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระราชกรณียกิจที่สำคัญมีดังนี้
1. ศาสนา ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยบาปบุญคุณโทษ ทรงผนวชโดยนิมนต์พระเถระจากเมืองพันของมอญมาเป็นพระอุปัชฌาย์ นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อีกทั้งสร้างพระพุทธรูปให้ได้สักการบูชา

 

หนังสือไตรภูมิพระร่วง

 

2. การป้องกันอาณาจักร ทรงพยายามสร้างอาณาจักรสุโขทัยให้เข้มแข็ง มีการปราบปรามและควบคุมเมืองต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ใกล้ราชธานีและหัวเมืองตะวันออก จนถึงเมืองทางลุ่มน้ำป่าสัก
3. การเมืองการปกครอง ทรงนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการปกครอง จึงเรียกพระนามของพระองค์ว่า พระมหาธรรมราชา

 

แหล่งที่มาของเนื้อหา : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช