เนื้อหาของคอร์ส
พระพุทธศาสนา
โบสถ์ พัทธสีมาโดยทั่วๆ ไป จะมีซุ้มครอบไว้ให้เห็นชัด แต่บางวัด ก็ทำสีมาติดไว้ที่ตัวผนังด้านนอกของโบสถ์ อย่างที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น บางวัดก็ฝังพัทธสีมาลงไปที่พื้นดินแล้วไม่ได้สร้างซุ้มครอบ เพียงแต่ทำเครื่องหมายบอกไว้ เช่น ที่วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น นอกจากสิ่งที่กล่าวแล้ว ก็มักจะมี พระเจดีย์ หรือ พระปรางค์ สำหรับบรรจุพระบรมธาตุ หรือพระธาตุอย่างอื่นๆ ถ้าเป็นเจดีย์ ก็จะมีลักษณะเป็นสถูป ที่มียอดแหลม อย่างเจดีย์ที่วัดโพธิ์ ถ้าเป็นปรางค์ ก็จะเป็นสถูปที่มียอดสูงขึ้นไป ปลายยอดมน รูปคล้ายต้นกระบองเพชร มีฝักเพกาแยกเป็นกิ่งๆ อยู่ข้างบน อย่างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น บางวัดก็อาจมี ศาลาการเปรียญ สำหรับเป็นที่ประกอบการกุศลอื่นๆ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์มาเทศนาสั่งสอนประชาชน ตามวาระที่จะกำหนดขึ้น อาจเป็นประจำ หรือชั่วคราวก็ได้ ตามปกติมักจะเป็นในวันพระ บางวัดอาจมี หอระฆัง และ โรงเรียนพระปริยัติธรรม สำหรับเป็นที่ที่ภิกษุสามเณรจะศึกษาธรรมวินัยด้วย แต่ทั้งนี้ก็มิได้ถือว่าจำเป็นจะต้องมี ที่นับว่าจำเป็นจริงๆ ก็คือ กุฏิ กับโบสถ์ การที่จะได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ได้นั้น มิใช่เพียงมีกุฏิ โบสถ์ วิหาร และศาลาการเปรียญเท่านั้น เพราะถ้ามีเพียงแค่นั้น ก็จะไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีองค์ประกอบทางด้านบุคคลด้วย นั่นคือจะต้องมีภิกษุ สามเณร ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งจะขาดเสียมิได้ พัดยศพระราชาคณะ และพระครูสัญญาบัตร พัดยศพระราชาคณะ และพระครูสัญญาบัตร ภิกษุ หมายถึง กุลบุตรที่มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว หวังจะเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ตามธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา และเข้าไปขอบวชกับคณะสงฆ์ และปฏิญาณว่าจะ ประพฤติปฏิบัติตามศีล ๒๒๗ ข้อที่มีมาในพระปาติโมกข์ ในประเทศไทยเราถือเป็นประเพณีว่า ผู้ชายไทยทุกคนที่มีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ควรจะเข้าไปบวชเป็นภิกษุ เพื่อศึกษาธรรมวินัยอย่างน้อยก็ ๓ เดือนในฤดูฝน ซึ่งเราเรียกว่า "พรรษา" เมื่อเข้าไปบวชแล้ว อาจบวชอยู่นานแค่ไหนเพียงใดก็ได้ แล้วแต่ศรัทธาและความจำเป็น แต่ถ้าหากผู้ใดมีอายุ ยังไม่ครบ ๒๐ ปี แต่ประสงค์จะเข้าไปบวช ก็อาจบวชเป็น สามเณร ได้ สามเณรไม่ต้อง ถือศีลมากอย่างพระ เพียงรับไตรสรณาคมน์ และศีล ๑๐ เท่านั้น นอกจากภิกษุและ สามเณรแล้วก็จะต้องมี ศิษย์วัด ซึ่งเป็นเด็กผู้ชาย ซึ่งตามปกติเข้ามาศึกษาเล่าเรียนวิชาการ ทางโลก และมาอาศัยอยู่กับพระหรือสามเณรที่วัด สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๘ ปรากฏว่ามีภิกษุทั้ง ประเทศรวม ๒๑๓,๑๗๒ รูป สามเณร ๑๒๑,๗๐๘ รูป และศิษย์วัดรวม ๑๑๘,๑๖๙ คน นอกจากนั้น ในบางวัดอาจมีสำนักชี คือ ผู้หญิงที่นุ่งขาวห่มขาวสมาทานศีล ๕ และศีล ๘ อยู่เป็นเอกเทศหนึ่งอีกด้วย สถิติ พ.ศ. ๒๕๑๘ มีวัดอยู่ ๒๖,๔๖๓ วัด และมีชี ๑๐,๔๔๗ คน การบริหารกิจการพระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยตำแหน่ง มีดังนี้ ๑. สมเด็จพระสังฆราช ๑ พระองค์ ๒. สมเด็จพระราชาคณะ ๖ รูป ๓. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ๗ รูป ๔. พระราชาคณะเทียบเจ้าคณะรอง ๒ รูป ๕. พระราชาคณะชั้นธรรม ๒๕ รูป ๖. พระราชาคณะชั้นเทพ ๔๕ รูป ๗. พระราชาคณะชั้นราช ๑๐๘ รูป ๘. พระราชาคณะชั้นสามัญ ๓๒๔ รูป ๙. พระครูสัญญาบัตร ๓,๐๐๒ รูป ๑๐. เจ้าอาวาส ๒๖,๔๖๓ รูป ๑๑. ครูสอนพระปริยัติธรรม ๒๐,๐๘๙ รูป สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (วาสนมหาเถระ) การศึกษาของคณะสงฆ์ก็มีการศึกษา แผนกนักธรรม หลักสูตร ๓ ปี แผนกบาลี หลักสูตร ๙ ปี ผู้ที่สอบบาลีตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป เรียกว่า เป็นเปรียญหรือ "มหา" การศึกษาแบบมหาวิทยาลัย หลักสูตร ๘ ปี เวลานี้คณะสงฆ์มีสถาบันการศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยอยู่ ๒ แห่ง คือ ที่สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศแห่งหนึ่งกับที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วัดมหาธาตุอีกแห่งหนึ่ง ผู้เรียนจบชั้นอุดมศึกษาที่ สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยชื่อว่าเป็น ศาสนศาสตร์บัณฑิต ผู้ที่เรียนจบชั้นอุดมศึกษาที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกว่า พุทธศาสตร์บัณฑิต ในปัจจุบันมีโรงเรียน พระปริยัติธรรม ๕,๙๘๕ โรง โรงเรียนที่อาศัยวัด ๙,๑๗๑ โรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเครื่องนมัสการในพิธีกงเต็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเครื่องนมัสการในพิธีกงเต็ก นอกจากคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นฝ่ายเถรวาท หรือ หีนยาน แล้ว ก็มีคณะสงฆ์จีน และคณะสงฆ์ญวน ในฝ่ายมหายานอีกด้วย คณะสงฆ์จีนนิกาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ มีภิกษุ ๙๔ รูป สามเณร ๒๕ รูป ศิษย์และผู้อาศัยอยู่ในวัดรวม ๘๔ คน มีวัดอยู่ ๙ วัด สำนักสงฆ์ ๙ แห่ง และโรงเจ ๑๔๕ โรง ส่วนคณะสงฆ์ญวน หรืออนัมนิกาย ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ มีพระภิกษุ ๑๒๘ รูป สามเณร ๑๑ รูป ศิษย์และผู้อาศัย ๙๖ รูป มีวัดอยู่ ๑๓ วัด ทั้งคณะสงฆ์จีนนิกาย และอนัมนิกาย ต่างก็มีเจ้าคณะใหญ่ของตนเป็นผู้ปกครอง ระเบียบวิธีการบวช ผู้ที่ปรารถนาจะอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาจะต้อง เป็นชาย มีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้ว และมีสติสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค ที่สังคมรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน โรคลมบ้าหมู เป็นต้น ทั้งจะต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน ถ้าเป็นข้าราชการ ก็จะต้องได้รับอนุญาตเป็นทางการก่อน แล้วจึงเข้าไปหาพระอุปัชาฌาย์ เพื่อขอบวช ทั้งนี้ เพื่อจะได้กำหนดวันที่จะสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในการบวชนี้จะต้องได้ รับความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์จากคณะสงฆ์เสียก่อน เพราะฉะนั้นในการบวชเป็น ภิกษุ จะต้องมีคณะสงฆ์อย่างน้อย ๑๐ รูป ร่วมในสังฆกรรมนั้น นอกจากในที่ทุรกันดาร หาภิกษุสงฆ์ได้ยากจริงๆ ก็อาจใช้คณะสงฆ์เพียง ๕ รูป ได้ สิ่งที่จำเป็นในการบวชพระก็คือ จะต้องมีบาตร และไตรจีวร พร้อมทั้งบริขารที่จำเป็นอื่นๆ คือ ประคตเอว มีด เข็ม และที่กรองน้ำ ในบริขาร ๘ อย่างซึ่งเรียกว่า อัฐบริขารนี้ จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การบวชก็ต้องบวชในโบสถ์ และคณะสงฆ์ในที่ประชุมนั้นจะต้องเห็นชอบด้วยเป็นเอกฉันท์ ถ้าหากมีภิกษุในที่นั้นแม้เพียงรูปเดียวคัดค้าน การบวชนั้นก็ใช้ไม่ได้ ส่วนการบรรพชา หรือบวชเป็นสามเณรนั้น แม้อายุไม่ครบ ๒๐ ปี ก็บวชได้ตามปกติจะต้องอ่านออกเขียน ได้เสียก่อน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ภิกษุสามเณรออกบิณฑบาต ภิกษุสามเณรออกบิณฑบาต เมื่อได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้วก็จะต้องดำรงชีวิตแบบพระ จะดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสหาได้ไม่ หน้าที่ของพระก็คือจะต้องออกบิณฑบาตในตอนเช้า ซึ่งเราเรียกว่าออกโปรดสัตว์ ต้องทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย ได้อย่างใดต้องฉันอย่างนั้น เมื่อบวชแล้วต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจึงจะเรียกว่า "บวชเรียน" ไม่ใช่ถือเอาการบวชเป็นการเข้าไปพักผ่อน นอกจากนี้ กิจวัตรประจำวันอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลงโบสถ์ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เพื่อเป็นการแสดงความสามัคคีทางกาย ทางวาจา และทางใจ และเพื่อทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ท่องแล้วให้แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่ออยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนในฤดูฝนแล้ว ก็จะทำพิธีออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ปวารณา" ในการปวารณานั้น ภิกษุทุกรูปตั้งแต่เจ้าอาวาสลงมา จนถึงพระลูกวัด จะต้องกล่าวเปิดโอกาสให้ภิกษุรูปอื่นๆ ว่ากล่าวแนะนำตักเตือนได้ ถ้าหากการประพฤติของตนเป็นที่รังเกียจของผู้อื่น และเมื่อปวารณาเสร็จแล้ว ต่อไปก็ถึงเทศกาลทอดกฐิน ภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิรับกฐิน และได้อานิสงส์กฐิน การทอดกฐิน คือ การถวายผ้าไตรจีวรและเครื่องบริขารแก่พระสงฆ์หลังจากเข้า พรรษาแล้ว สำหรับวัดหลวง ก็เป็นกฐินหลวง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอาจเสด็จไปทรงทอด เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือส่วนราชการไปทอดแทน พระองค์ก็ได้ ส่วนวัดราษฎร์ ประชาชนอาจทอดเอง เป็นการเฉพาะรายๆ ไป หรือจะรวม กันทอดเป็นกฐินสามัคคีก็ได้ สำหรับกฐินราษฎร์ มักจะมีการทอดผ้าป่าควบคู่ไปด้วย
0/6
ทวีปอเมริกาและภัยพิบัติ
ทวีปอเมริกาใต้เป็นพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติบ่อยครั้ง จากแผ่นดินไหว อุทกภัย และภูเขาไฟปะทุ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการกระทำของมนุษย์เช่นเดียวกัน
0/4
วิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ส23101) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564
เกี่ยวกับบทเรียน

ความเป็นมาโดยสังเขป
           อเมริกาเหนือเป็นทวีป ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีคนรู้จัก จนกระทั่งมีนักเดินเรือชาวอิตาเลียนชื่อ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Comlubus) ได้เดินทางมาพบเกาะบริเวณที่เป็นหมู่เกาะอินดีสตะวันตก ใน พ.ศ. 2035 และเข้าใจว่าดินแดนใหม่ที่เขาพบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ต่อ พ.ศ.2042 อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) ชาวอิตาเลียนได้เดินทางสำรวจดินแดนที่โคลัมบัสเคยสำรวจมาแล้ว จึงทราบว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นทวีปใหม่ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียตามที่โคลัมบัสเข้าใจ และเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เขา ชาวยุโรปจึงตั้งชื่อทวีปใหม่นี้ว่า อเมริกา (America)
ลักษณะทางกายภาพ
           1. ที่ตั้ง อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ ระหว่างละติจูดประมาณ 7-83 องศาเหนือ ลองจิจูด17-172 องศาตะวันตก โดยมีเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ลากผ่านตอนกลางของประเทศเม็กซิโก
           2. อาณาเขต
                      1) ทิศเหนือ ติดต่อกับสมุทรอาร์กติก มีน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลโบฟอร์ต อ่าวแบฟฟิน อ่าวฮัดสัน ช่องแคบเดวิส และทะเลแลบราดอร์ เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะกรีนแลนด์ เกาะแบฟฟิน เกาะวิกตอเรีย เกาะเอลสเมียร์ และหมู่เกาะควีนอลิซาเบธ ซึ่งอยู่ในเขตอากาศหนาว จึงมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจน้อย มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง
                      2) ทิศตะวันออก ติดต่อกับสมุทรแอตแลนติก มีเกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะนิวฟันด์แลนด์ เกาะเบอร์มิวดา และหมู่เกาะบาฮามาส
                      3) ทิศใต้ ติดต่อกับ มหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปอเมริกาใต้ มีคลองปานามาเป็นแนวแบ่งเขตทวีปน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก มีเกาะที่สำคัญ คือ หมู่เกาะอินดีสตะวันตก ได้แก่ เกาะคิวบา เกาะฮิสแปนิโอลา เกาะจาเมกา เกาะเปอร์โตริโก
                      4) ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตอนเหนือของทวีปมีช่องแคบเบริงคั่นระหว่างทวีปอเมริกาเหนือกับทวีปเอเชีย มีคาบสมุทรที่สำคัญ คือ คาบสมุทรแคลิฟอร์เนีย และคาบสมุทรอะแลสกาน่านน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลเบริง อ่าวอะแลสกา อ่าวแคลิฟอร์เนีย เกาะที่สำคัญ ได้แก่ เกาะแวนคูเวอร์ หมู่เกาะอาลูเชียน และหมู่เกาะควีนชาร์ล็อต
           3. ขนาดพื้นที่ อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 24,247,000 ตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รูปร่างของทวีปอเมริกาเหนือคล้ายรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ คือมีฐานกว้างอยู่ทางเหนือและปลายแหลมอยู่ทางใต้ ความกว้างของทวีปตั้งแต่ช่องแคบเบริงถึงเกาะนิวฟันด์แลนด์ประมาณ 4,828 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดที่คอคอดปานามา กว้างประมาณ 50 กิโลเมตร
           4. ภูมิภาค อเมริกาเหนือแบ่งตามสภาพสังคมวัฒนธรรม มี 2 ส่วน ได้แก่ แองโกลอเมริกาและละตินอเมริกา โดยถือเอาแม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande) เป็นพรมแดนระหว่างเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาเป็นแนวแบ่ง
           1. แองโกลอเมริกา (Anglo-America) คือ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำริโอแกรนด์ ประกอบด้วยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ
           2. ละตินอเมริกา (Latin-America) คือ ดินแดนของประเทศต่างๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมมาจากสเปนและโปรตุเกส ประกอบด้วย
                      2.1 อเมริกากลาง หมายถึง ดินแดนที่อยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำริโอแกรนด์ ได้แก่ เม็กซิโก เบลิซ คอสตาริกา เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส นิการากัว และปานามา
                      2.2 ประเทศที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน ได้แก่ บาฮามาส บาร์เบโดส คิวบา โดมินิกัน เกรเนดา เฮติ เจเมกา เปอร์โตริโก ตรินิแดดและโตเบโก แอนติกาและบาร์บูดา โดมินิกา กวาเดอลูปมาร์ตินีก เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส เซนต์คิดส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์
ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งออกเป็น 4 เขต
           1) เขตหินเก่าแคนาดา (Canadian Shield) ได้แก่ พื้นที่บริเวณรอบๆ อ่าวฮัดสันลงมาถึงทะเลสาบทั้ง 5เป็นเขตหินที่เก่าแก่ที่สุดเช่นเดียวกับบอลติกชีลด์ในทวีปยุโรป ประกอบด้วยหินเปลือกโลกที่มีอายุเก่าแก่และผ่านการสึกกร่อนมานาน ลักษณะของพื้นที่จึงเป็นที่ราบเกือบทั้งหมดและอยู่ในเขตอากาศหนาวจัด ทางตอนเหนือมีเกาะใหญ่น้อยมากมาย พื้นที่ส่วนใหญ่มีธารน้ำแข็งปกคลุม มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง และมีจำนวนน้อยมาก
           2) เขตเทือกเขาภาคตะวันออก มีอาณาเขตตั้งแต่เกาะนิวฟันด์แลนด์ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของแคนาดาลงมาถึงภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เป็นเขตหินเก่าแต่มีอายุน้อยกว่าเขตหินเก่าแคนาดา ประกอบด้วยเทือกเขาเตี้ยๆ ที่ผ่านการสึกกร่อนมานาน ได้แก่ เทือกเขาแอปปาเลเชียน มียอดเขาสูงสุดชื่อ ยอดเขามิตเชล อยู่ในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา สูง 2,005 เมตร
                      3) เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก เป็นเขตเทือกเขาสูงที่สลับซับซ้อนกันหลายแนวที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลกที่มีอายุน้อย จึงเป็นเขตที่มักเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหว มีอาณาบริเวณตั้งแต่ตอนเหนือสุดของช่องแคบแบริงจนถึงประเทศปานามา ได้แก่ เทือกเขาอะแลสกา มียอดเขาสูงสุดในทวีปอเมริกเหนือ ชื่อ ยอดเขาแมกคินลีย์ (6,190 เมตร) เทือกเขารอกกี เทือกเขาแคสเกต เทือกเขาเซียราเนวาดา เทือกเขาเซียรามาเดร และเทือกเขาโคสต์ ระหว่างเทือกเขาสูงเหล่ามีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาที่สำคัญ คือ ที่ราบสูงอะแลสกา ที่ราบสูงบริติชโคลัมเบีย ที่ราบสูงเกรตเบซิน ที่ราบสูงโคโลราโด และที่ราบสูงเม็กซิโก โดยเฉพาะที่ราบสูงโคโลราโด มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโกรกธาร หุบเหวลึก มีหน้าผาสูงชัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของแม่น้ำโคโลราโด ทำให้เกิดการกัดเซาะดินและชั้นหิน เกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ แกรนด์แคนยอน (Grand Canyon) ในมลรัฐแอริโซนา และมีอุทยานแห่งชาติที่มีชื่อเสียงมาก คือ อุทยานแห่งชาติเยลโลสโตน เป็นอุทยานน้ำพุร้อนกีเซอร์ รวม 120 แห่ง
                      4) เขตที่ราบภาคกลาง เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีอาณาเขตตั้งแต่มหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือลงมาจนถึงอ่าวเม็กซิโกทางตอนใต้ และระหว่างเทือกเขารอกกีกับเทือกเขาแอปปาเลเชียน ประกอบด้วยชั้นหินที่เกิดจากการโก่งตัวของเปลือกโลก ลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบลูกคลื่น คือ บริเวณที่สูงจะอยู่ตอนเหนือและเขตติดต่อกับเทือกเขารอกกี บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ประกอบด้วยเขตที่ราบ 6 เขต คือ
           4.1 ที่ราบลุ่มแม่น้ำแมกเคนซี (Mackenzie Lowlands) อยู่ตอนเหนือสุดระหว่างเขตหินเก่าแคนาดากับเทือกเขาแมกคินลีย์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแคบๆ มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เนื่องจากมีอากาศหนาวเย็น
           4.2 ที่ราบแพร์รีแคนาดา (Canadian Prairie) เป็นที่ราบใหญ่อยู่ทางภาคกลางของแคนาดา ได้แก่ บริเวณรัฐแมนิโทบา ซัสแคตเชวัน แอลเบอร์ทา เป็นเขตปลูกข้าวสาลีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
           4.3 ที่ราบลุ่มทะเลสาบทั้ง 5 และลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ (Great Lakes and St.Lawrence) ทะเลสาบทั้ง 5 ได้แก่ ทะเลสาบสุพีเรีย (ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก) มิชิแกน ฮูรอน อีรี และออนแตริโอ เป็นแหล่งน้ำที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และระหว่างทะเลสาบอีรีกับออนแตริโอมีน้ำตกขนาดใหญ่ ชื่อว่า น้ำตกไนแอการาและที่ชายฝั่งทะเลสาบออนแตริโอ มีทางระบายซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ไหลลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก เขตที่ราบรอบทะเลสาบทั้ง 5 และลุ่มแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์ มีดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และเป็นบริเวณที่การขนส่งทางน้ำภายในทวีปสำคัญที่สุดในโลก จึงเป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
           4.4 ที่ราบลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี-มิสซูรี (Missisippi-Missouri Plain) เป็นที่ราบที่เกิดจากแม่น้ำพัดเอาดินตะกอนมาทับถมเป็นบริเวณกว้าง เหมาะแก่การเพาะปลูก ได้แก่ แม่น้ำมิสซิสซิปปี ซึ่งมีความยาวที่สุดในอเมริกาเหนือ ยาว 3,779 กิโลเมตร ไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโก และมีแม่น้ำสาขา คือ แม่น้ำมิสซูรี โอไฮโอ เทนเนสซี อาร์คันซอส์ เป็นเขตที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นแห่งหนึ่งของอเมริกาเหนือ
           4.5 ที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก (Gult Coast and Atlantic Plain) มีบริเวณตั้งแต่ทางตะวันออกของเทือกเขาแอปปาเลเชียนลงไปทางใต้ถึงอ่าวเม็กซิโก โดยเฉพาะที่ราบชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกเป็นเขตที่มีอากาศร้อน จึงเหมาะแก่การปลูกพืชเมืองร้อน เช่น ยาสูบ ข้าวเจ้า ฝ้าย ผลไม้ต่างๆ 4.6 ที่ราบบนที่สูง (High Plains)ได้แก่ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของเทือกเขารอกกี ซึ่งเป็นเขตเงาฝนหรือเขตอับลม ทำให้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีต่ำ เป็นเขตเหมาะสำหรับปลูกข้าวสาลี โดยใช้เครื่องจักรทุ่นแรงในการเพาะปลูกแบบไร่ขนาดใหญ่
ลักษณะภูมิอากาศ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภูมิอากาศต่อทวีปอเมริกาเหนือ
           1. ที่ตั้ง อเมริกาเหนือเป็นทวีปมีอาณาเขตตั้งแต่ใกล้ขั้วโลกถึงใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้มีอากาศทั้งในเขตหนาว อบอุ่น และร้อน แต่ส่วน ใหญ่อยู่ในเขตอบอุ่น (ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์กับเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล)
           2. ลักษณะภูมิประเทศ เทือกเขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ โดยเฉพาะทางตะวันตก เป็นกำแพงขวางกั้นทิศทางลมที่พัดนำความชื้นจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้พื้นที่ภายในทวีปเป็นเขตแห้งแล้งแบบทะเลทราย และกึ่งทะเลทราย ส่วนทางตะวันออกมีเทือกเขาไม่สูงมากนัก ซึ่งวางตัวอยู่ในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ไม่ขวางกั้นทิศทางลมที่นำความชื้นจากมหาสมุทรแอตแลนติก และมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ
           3. กระแสน้ำ ชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐอเมริกา มีกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์-สตรีมไหลผ่าน ทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีอากาศไม่หนาวเย็นมากนัก แม้จะตั้งอยู่ในละติจูดสูง ส่วนชายฝั่งตะวันออกด้านมหาสมุทรแอตแลนติกของแคนาดา มีกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ไหลผ่าน ทำให้มีอากาศหนาวเย็นมาก บริเวณที่กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมกับกระแสน้ำเย็นแลบราดอร์ ไหลมาบรรจบกัน ทำให้เป็นแหล่งที่มีปลาชุกชุมมากแห่งหนึ่งของโลก เรียกว่า แกรนด์ แบงก์ ทางชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิก มีกระแสน้ำอุ่นอะแลสกาเหนือไหลผ่าน ทำให้มลรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกาและรัฐบริติชโคลัมเบีย มีอากาศอบอุ่นไม่หนาวเย็น แม้จะอยู่ในละติจูดสูง ส่วนทางใต้มีกระแสน้ำเย็นแคลิฟอร์เนียไหลเลียบชายฝั่ง ทำให้ชายฝั่งด้านนี้มีอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน แม้จะตั้งอยู่ในละติจูดต่ำ

 

ไฟล์ตัวอย่าง
ภูมิศาสตร์ เรื่อง ทวีปอเมริกาเหนือ.pdf
ขนาด: 16.61 MB