พุทธศาสนพิธี
ความสำคัญของศาสนพิธี
การกระทำบุญกุศลในทางพระพุทธศาสนาของเรานั้นมีมากมายหลายอย่างต่างกันไป ตามแต่ละวิธีการที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ และแต่ละอย่างล้วนเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติ – ศาสนา – องค์พระมหากษัตริย์ และประจำจิตใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยของเรามาเป็นเวลานับเป็นพัน ๆ ร้อย ๆ ปีผ่านมา และจะมีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปตลอดกาลนาน
เมื่อกล่าวโดยจำเพาะเจาะจงแล้ว มูลเหตุแห่งการทำบุญมี ๓ ประการด้วยกัน คือ
๑. บุญในวันสำคัญของชาติ ศาสนา องค์พระมหากษัตริย์
๒. บุญประจำประเพณีในเทศกาลต่าง ๆ เช่น ตรุษสงกรานต์ สารท เข้าพรรษา ออกพรรษาเป็นต้น
๓. บุญที่มีความเกี่ยวข้องเฉพาะตัวบุคคล
บุญตามข้อ ๑ – ๒ นั้น เป็นหน้าที่ของคนไทยชาวพุทธทั้งหลายจะพึงกระทำบำเพ็ญเป็นสามัคคีธรรมร่วมกันตามแต่ละสถานที่ และท้องถิ่นนั้น ๆ
ส่วนบุญตามข้อ ๓ นั้น เป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าภาพ และญาติมิตรจะพึงกระทำกันเป็นการเฉพาะ และยังแบ่งบุญนี้ออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ดังนี้ คือ
๑. บุญในพิธีกรรมมงคลต่างๆ เช่น ทำบุญอายุ บวชนาค โกนจุก แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น หรือที่เรียกว่าบุญที่ปรารภเหตุที่เป็นมงคล นั่นเอง
๒. บุญอวมงคล ในพิธีทักษิณานุปทาน อุทิศส่วนกุศลให่ท่านผู้ล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว นับตั้งแต่ทำบุญอุทิศหน้าศพ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน และครบรอบปี เป็นต้น หรือที่เรียกว่า บุญปรารภ -เหตุอวมงคล นั่นเอง
งานบุญทั้งหมดนี้ ล้วนมีศาสนพิธี คือการกระทำตามหลักเกณฑ์ของศาสนาที่วางไว้นั้นเหมือนกันหมด ซึ่งนอกเหนือไปจากผู้เป็นเจ้าภาพ จะดำเนินการกำหนดวัน – เวลา ทำบุญนิมนต์พระ เชิญญาติมิตร หรือแขกเหรื่อ จัดสถานที่ และการตระเตรียมสิ่งของ และเครื่องใช้ต่างๆไว้ก่อนงานอย่างพร้อมเพรียงแล้ว ศาสนพิธี ได้แก่ การกล่าวคำบูชาพระและอาราธนาศีลเป็นต้น จนกว่าพิธีการจะเสร็จเรียบร้อยนั้น นับเป็นพิธีการระดับหัวใจของงานทีเดียวที่จะต้องทำให้ถูกต้อง เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ต่างๆ ดังนี้ คือ
๑. ได้บุญกุศลอย่างถูกต้อง และครบถ้วนตามพิธีการที่ต้องการเจ้าภาพ
๒. ชื่อว่ายกย่องเชิดชูพิธีการทำบุญนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกต้องตามประเพณี วัฒนธรรมต่อไป
๓. เป็นเกียรติคุณแก่ผู้เป็นเจ้าภาพ และผู้ร่วมกุศลทั้งหลายให้เกิดเพิ่มพูนกุศล จิตศรัทธามากยิ่งๆ ขึ้นไป
ดังนั้น จึงใคร่เชิญผู้เป็นเจ้าภาพดำเนินการตามหลักศาสนพิธีอย่างถูกต้องตามลำดับดังต่อไปนี้
เหตุเกิดศาสนพิธี
ระเบียบวิธีการปฏิบัติของชาวพุทธเพื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยเรียกว่า ศาสนพิธี ซึ่งหมายถึง แบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆ เป็นสื่อในการทำความดีในพระพุทธศาสนา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การทำกิจกรรมเพื่อเข้าถึง พระรัตนตรัยนั่นเอง ดังนั้น ศาสนพิธีจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่นๆ เลย
เหตุเกิดศาสนพิธี จัดว่าเป็นสื่อกลางที่นำคนเข้าถึงสาระ หรือแก่นพระศาสนาโดยการเข้าถึงสาระแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานั้นสามารถเข้าถึงทั้งด้วยการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล และการเจริญ ภาวนาตามลำดับ และที่สำคัญคือ การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อันเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” พระโอวาทที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนา
ในโอวาทปาติโมกข์นั้นมีหลักการสำคัญที่ทรงวางไว้เป็นหลักทั่วๆไป ๓ ประการ คือ
๑. สอนไม่ให้ทำความชั่วทั้งปวง (ละเว้นชั่ว)
๒. สอนให้อบรมกุศลให้ถึงพร้อม (ประกอบควมดี)
๓. สอนให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส (ทำจิตผ่องใส)
การพยายามทำตามคำสอนในหลักการนี้เป็นการพยายามทำความดีที่เรียกว่า ทำบุญ และการทำบุญนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงวัตถุคือที่ตั้งแห่งการทำบุญไว้โดยย่อ เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” มี ๓ ประการ คือ
๑. ทาน การบริจาคสิ่งของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ศีล การรักษากายวาจาให้สงบเรียบร้อย ไม่ล่วงบัญญัติที่ทรงห้าม
๓. ภาวนา การอบรมจิตใจให้ผ่องใสในการกุศล
บุญกิริยาวัตถุนี้ เป็นแนวทางให้พุทธบริษัทประพฤติตามหลักการที่กล่าวข้างต้นและเป็นเหตุให้เกิด ศาสนพิธีต่างๆขึ้น โดยนิยม
ประโยชน์ของศาสนพิธี
๑. เป็นวิธีการดึงคนเข้าสู่หลักธรรมทางพระศาสนา
๒. เป็นรูปแบบวิธีการที่มีแบบแผน งดงาม สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย
๓. เป็นกระบวนการที่ทำให้คนในสังคมมีความรักสามัคคีปราถนาดีต่อกัน
๔. ผู้ที่ศึกษาศาสนพิธีดีแล้ว ย่อมเป็นผู้ฉลาดในพีธีกรรมที่ต้องปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศล
๕. สามารถจรรโลงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญยั่งยืนสืบไป