เนื้อหาของคอร์ส
ร้อยเรียงเขียนเรื่องราว
การเขียนเรียงความ บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร
0/4
วิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ท22101) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564
เกี่ยวกับบทเรียน

          ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นหินชนวนสี่เหลี่ยมยอดแหลมปลายมน สูง ๑ เมตร ๑๑ เซนติเมตร มีอักษรจารึกสี่ด้าน ด้านที่ ๑ และด้านที่ ๒ มี ๓๕ บรรทัด ด้านที่ ๓ และด้านที่ ๔ มี ๒๗ บรรทัด เรื่องที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงแบ่งออกได้เป็น ๓ ตอน ได้แก่

          ตอนที่ ๑ นับตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ ถึง ๑๘ กล่าวถึงพระราชประวัติของพ่อขุนรามคำแหง
ซึ่งใช้สรรพนามแทนตนเองว่า “กู” และทรงระบุพระนามพระราชบิดา พระราชมารดา พระเชษฐา
และกล่าวถึงการรบกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ไปจนถึงการขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาและพระเชษฐา

          ตอนที่ ๒ นับตั้งแต่ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๘ ถึงด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐ มีการสันนิษฐานว่าผู้แต่ง
ไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้แต่งข้อความในตอนที่ ๑ เป็นการพรรณนาถึงความเจริญรุ่งเรืองของสุโขทัยในสมัย
พ่อขุนรามคำแหง ทั้งการค้าขายเสรี กฎหมาย ระเบียบการฟ้องร้อง สภาพภูมิศาสตร์ และวิถีชีวิตของคนไทยสมัยนั้น

          ตอนที่ ๓ นับตั้งแต่ด้านที่ ๓ บรรทัดที่ ๑๐ ถึงด้านที่ ๔ บรรทัดสุดท้าย กล่าวถึงพระราชกรณียกิจ
ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ทรงโปรดให้ช่างสกัดหินเป็นพระแท่นมนังคศิลาบาตร เพื่อให้พระสงฆ์ขึ้นนั่งแสดงธรรมแก่ประชาชน และทรงใช้เป็นบัลลังก์ว่าราชการ นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงพระจริยวัตร
ของพ่อขุนรามคำแหงที่ทรงมีพระปรีชาสามารถปราบข้าศึกและขยายอาณาเขตได้กว้างขวาง

          ตอนที่นำมาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เป็นจารึกตอนที่ ๑ เกี่ยวกับพระราชประวัติ
ของพ่อขุนรามคำแหงที่สันนิษฐานว่าพระองค์ทรงเป็นผู้จารึกเอง

                   “พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง

          ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสามผู้หญิงโสง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก

          เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก

          พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า

          ไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่หนี

          กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อช้างด้วยขุนสามชน

          ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี

          พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน

          เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู

          กูได้ตัวเนื้อตัวปลา กูเอามาแก่พ่อกู

          กูได้หมากส้มหมากหวานอันใดกินอร่อยกินดี กูเอามาแก่พ่อกู

          กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู

          กูไปท่บ้านท่เมือง ได้ช้างได้งวง ได้ปั่วได้นาง ได้เงือนได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู

          พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพร่ำบำเรอแก่พี่กูดั่งบำเรอแก่พ่อกู

          พี่กูตายจึ่งได้เมืองแก่กูทั้งกลม”

ไฟล์ตัวอย่าง
ภาษาไทย – สื่อประกอบการสอนที่ ๓.pdf
ขนาด: 816.09 KB