แหล่งน้ำในธรรมชาติ
แหล่งน้ำในธรรมชาติเกิดจากน้ำฝนที่ตกลงสู่พื้นโลกแล้วสะสมบนผิวดินและใต้ดิน สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน
แหล่งน้ำผิวดิน หมายถึง แหล่งน้ำที่อยู่บนดิน เนื่องมาจากภูมิประเทศของพื้นผิวโลกไม่ราบเรียบเสมอกัน ทำให้น้ำไหลรวมกันสู่แหล่งผิวดินต่าง ๆ เช่น มหาสมุทร ทะเล บึง แม่น้ำ
แหล่งน้ำใต้ดิน หมายถึง แหล่งน้ำที่เกิดจากการสะสมของน้ำที่ซึมผ่านชั้นดินและชั้นหินใต้ดิน น้ำที่ซึมลงไปใต้ดินบางส่วนจะสะสมอยู่ตามช่องว่างของเม็ดดิน เรียกว่า น้ำในดิน เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดดก็จะระเหยไป ส่วนน้ำที่เหลือจะซึมลงต่อไปแทรกรวมตัวกันอยู่ตามช่องว่างของตะกอนในหินหรือตามรอยแตกของชั้นหิน เรียกน้ำที่ถูกกักเก็บนี้ว่า น้ำบาดาล
โลกปกคลุมด้วน้ำ ร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมด ปริมาณน้ำของโลกทั้งหมดเป็นน้ำเค็มประมาณร้อยละ 97.5 ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก ส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด แต่ปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้นมีน้อยมาก โดยร้อยละของปริมาณน้ำบนโลกเป็นดังนี้
ตาราง ปริมาณน้ำบนโลก
*พืดน้ำแข็ง คือ น้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นดินเป็นบริเวณกว้างใหญ่แถบขั้วโลก โดยเฉพาะเกาะกรีนแลนด์ และทวีปแอนตาร์กติกา
**ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว คือ ชั้นดินที่มีอุณหภูมิอยู่ใต้จุดเยือกแข็งต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายร้อยปีหรือหลายพันปี ชั้นดินเยือกแข็งนี้เกิดอยู่ในบริเวณซึ่งความร้อนของอากาศในฤดูร้อนไม่อาจซึมซาบลงไปถึงชั้นดินนี้ได้ และพบในบริเวณที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศประจำปีประมาณ -5 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น เช่น บริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
น้ำบนโลกที่เป็นน้ำจืดมีร้อยละ 2.5 ซึ่งมีปริมาณน้อยมาก โดยถ้าเรียงลำดับปริมาณน้ำจืดจากมากไปน้อยจะได้ดังนี้
- ธารน้ำแข็งและพืดน้ำแข็ง
- น้ำใต้ดิน
- ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวและน้ำแข็งจากใต้ดิน
- ทะเลสาบ
- ความชื้นในดิน
- ความชื้นในบรรยากาศ
- บึง
- แม่น้ำ
- น้ำในสิ่งมีชีวิต